อำนาจหน้าที่ของโรงเรียน
สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ได้กำหนดให้สถานศึกษา มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ๆ โดยให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
- บริหารกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบข้อบังคับของทางราชการและของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ
- ประสานระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา รวมทั้งควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับของทางราชการ
- เป็นผู้แทนของสถานศึกษาหรือส่วนราชการในกิจการทั่วไปรวมทั้งการจัดทำนิติกรรมสัญญาในราชการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการได้รับตามที่ได้รับมอบอำนาจ
- จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการเพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา (คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 10/2559 ข้อ 4 ให้เสนอต่อ กศจ.)
- อำนาจหน้าที่ในการอนุมัติประกาศนียบัตรและวุฒิบัตรของสถานศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด
- ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวง ศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการ คณะกรรมการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ การศึกษา รวมทั้งงานอื่น ๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการมอบหมาย
สถานศึกษาใดที่ยังไม่สามารถปฏิบัติงานบางประการตามที่กำหนดในกฎหมาย หรือตามที่ได้รับ มอบหมายได้ อาจขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือส่วนราชการนั้นสังกัดอยู่เป็นผู้รับผิดชอบปฏิบัติงาน เฉพาะอย่างให้แทนเป็นการชั่วคราวได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและลักษณะของงานที่ให้ปฏิบัติแทนได้ที่กำหนดในกฎกระทรวง
นอกจากนี้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการบริหารจัดการและขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2546 ได้กำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาไว้ ดังนี้
- ให้สถานศึกษามีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่เพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ
- ในกิจการทั่วไปของสถานศึกษาที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้ผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้แทนของนิติบุคคลสถานศึกษา
- ให้สถานศึกษามีอำนาจปกครอง ดูแล บำรุง รักษา ใช้จัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้แก่สถานศึกษา เว้นแต่การจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ที่มีผู้อุทิศให้สถานศึกษาต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ เมื่อจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สถานศึกษารายงานให้ผู้อำนวยการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบโดยเร็ว
- ในกรณีที่จะต้องมีการจดทะเบียนสิทธิ ขึ้นทะเบียนหรือดำเนินการทางทะเบียนใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ผู้อุทิศให้แก่สถานศึกษา ให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการทางทะเบียนดังกล่าวได้ในนามนิติบุคคลสถานศึกษา
- ในกรณีนิติบุคคลสถานศึกษาถูกฟ้องคดี ให้สถานศึกษารายงานให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานทราบ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบดำเนินคดีโดยเร็ว
- สถานศึกษาจะมีอิสระในการบริหารจัดการงบประมาณในส่วนของที่ตั้งไว้สำหรับสถานศึกษาตามที่ได้รับการกำหนดวงเงิน และได้รับมอบอำนาจจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด ทั้งนี้ยกเว้นงบประมาณในหมวดเงินเดือน
- สถานศึกษาจะมีอิสระในการบริหารจัดการพัสดุในส่วนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบหรืออยู่ในวงเงินงบประมาณที่ได้รับมอบหมายตามหลักเกณฑ์ที่ระบุในข้อ 6 ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ที่เลขาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด
- การรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้กาสถานศึกษาให้สถานศึกษารับบริจาค ตามที่ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการรับเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการและตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด
- การบริหารจัดการเกี่ยวกับการเงินและการบัญชีของสถานศึกษาให้เป็นไปตามระเบียบที่เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานประกาศกำหนด
- ให้สถานศึกษาจัดทำบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินและสินทรัพย์ที่มีผู้อุทิศให้ตามข้อ ๔ ไว้เป็นหลักฐานและสรุปรายการบัญชีทรัพย์สินดังกล่าว รายงานให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่สถานศึกษานั้นสังกัดทราบทุกสิ้นปีงบประมาณ
- การบริหารงานบุคคลของสถานศึกษาให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
บทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา
เป็นการกำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการ สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ครู/อาจารย์ บุคลากร ผู้ปกครองและชุมชน ให้สอดคล้องกับนโยบาย และวัตถุประสงค์ของโรงเรียน ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษามีบทบาทและหน้าที่ต่อไปนี้
บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วยจำนวนและคุณสมบัติตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีบทบาทดังนี้
- ร่วมวางแผนและให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการศึกษาของโรงเรียน
- ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของโรงเรียน
- วิเคราะห์สภาพของโรงเรียน
- ร่วมพิจารณาปรับปรุงส่งเสริมและให้ความเห็นชอบในการจัดทำแผนในโรงเรียน
- กำหนดยุทธศาสตร์ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาโรงเรียน
- ร่วมประเมินและรับทราบผลการดำเนินงาน
- ให้การสนับสนุนให้ข้อเสนอแนะเพื่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้มีคุณภาพ
- เผยแพร่ผลงานของโรงเรียน
บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษามีบทบาทเป็นผู้นำการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยมีหน้าที่ในการจัดระบบการศึกษาและแผนงาน ควบคุม ดำเนินงานและบริหารงานด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างเรียบร้อย โดยมีหน้าที่และบทบาทดังนี้
- บริหารงานตามนโยบายของหน่วยเหนือ
- บริหารงานในหน้าที่ทั้งด้านงานวิชาการ งบประมาณ บุคคล และบริหารทั่วไป
- อาคารสถานที่และงานชุมชน
- บริหารงานให้เป็นไปตามระเบียบ กฎหมายและวินัยของทางราชการ
- ให้ขวัญกำลังใจแก่บุคลากรในโรงเรียน
- ส่งเสริมให้บุคลากรทำงานเต็มกำลังความสามารถและตามศักยภาพ
- ปฏิบัติงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
บทบาทหน้าที่ของครู
มีบทบาทเป็นผู้พัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน โดยมีหน้าที่ ดังนี้
- ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ รักษาจรรยามารยาทของครูอาจารย์
- ทำหน้าที่อบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีความรู้ ความประพฤติที่ดีงาม
- ช่วยรับผิดชอบการบริหารงานร่วมกับผู้บริหาร
- ช่วยเหลืองานโรงเรียนตามที่ได้รับมอบหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- ประพฤติปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีต่อนักเรียนและสังคม
- ศึกษาค้นคว้า เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน ให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
- ติดตามช่วยเหลือศิษย์ของตนอยู่เสมอ
บทบาทหน้าที่ของนักการภารโรง
มีบทบาทในการรักษาความปลอดภัยของโรงเรียน และดูแลบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมของโรงเรียนโดยมีบทบาท ดังนี้
- ปฏิบัติงานด้านรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของทางราชการ
- ปฏิบัติงานด้านความสะอาดของอาคารสถานที่
- ตกแต่งสวนไม้ดอกไม้ประดับ ถนนภายในโรงเรียนให้สวยงาม
- ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่โรงเรียนมอบหมาย
- ดูแลรักษางานด้านสาธารณูปโภค น้ำดื่ม น้ำใช้ให้เพียงพอ
- ดูแลการเปิด – ปิดประตู หน้าต่างของอาคารเรียนให้เรียบร้อย
บทบาทหน้าที่ของผู้ปกครองและชุมชน
ผู้ปกครองและชุมชน มีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ของโรงเรียน ดังนี้
- ศึกษาถึงระเบียบ ข้อบังคับของโรงเรียน
- ศึกษารายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน
- ให้การสนับสนุนในกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพการเรียนการสอน
- รับผิดชอบความประพฤติตลอดทั้งการแต่งกายตามระเบียบของโรงเรียน
- อบรมลูกหลานให้ปฏิบัติตามระเบียบของโรงเรียน
- เข้าร่วมประชุมเพื่อฟังคำชี้แจง ให้ข้อเสนอแนะกับทางโรงเรียน
บทบาทหน้าที่ของนักเรียน
นักเรียนมีหน้าที่ในการศึกษา และประพฤติตามระเบียบของทางโรงเรียนโดยปฏิบัติ ดังนี้
- นักเรียนต้องแต่งกายด้วยเครื่องแบบที่ถูกต้องตามระเบียบที่ทางโรงเรียนกำหนด
- นักเรียนต้องมีวินัย คุณธรรม จริยธรรมและรู้จักคุณค่าของวัฒนธรรมไทย
- นักเรียนต้องให้การเคารพ ศรัทธา เชื่อฟังบิดา – มารดา ผู้ปกครอง ครู – อาจารย์
- นักเรียนต้องประพฤติตามระเบียบ ข้อบังคับและแนวปฏิบัติต่าง ๆ ที่โรงเรียนกำหนด
- นักเรียนต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่ เพศ วัย และมีความสุภาพอ่อนโยน
- นักเรียนต้องมาโรงเรียนให้ทันเวลา ไม่ขาดเรียน ไม่หนีเรียน และเข้าเรียนให้ตรงเวลา
- นักเรียนต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียน
- นักเรียนต้องไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่เสพสารเสพติดและไม่เล่นการพนันทุกชนิด
- นักเรียนต้องมีความซื่อสัตย์
- นักเรียนต้องสามัคคี ไม่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท สร้างความเสื่อมเสียแก่ตนเองและผู้อื่น
- นักเรียนต้องรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลรักษาความสะอาดห้องเรียน
- นักเรียนต้องเข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน กิจกรรมชุมชน
- นักเรียนต้องร่วมบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม
- นักเรียนต้องช่วยกันสร้างและรักษาเกียรติคุณของโรงเรียน